ถาวรวัตถุภายในวัด ของ วัดอัมพวัน (จังหวัดลพบุรี)

พระอุโบสถ

อุโบสถวัดอัมพวันยังคงสภาพเดิมของอุโบสถที่สร้างขึ้นในรุ่นแรกๆ ของวัดมอญในชุมชนมอญบ้านบางขันหมากแห่งนี้ได้ดีที่สุด ลักษณะของอุโบสถวัดอัมพวันเป็นอุโบสถขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน ฐานยกพื้นสูงจากพื้นดินเล็กน้อยเป็นฐานบัว หน้าบันเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว กรอบหน้าบันหยักเป็นรูปสามเหลี่ยมฟันปลา ไม่มีลวดลายแบบง่ายๆ ตัวอาคารก่อด้วยผนังทึบทั้ง ๔ ช่อง มีประตูทางเข้าด้านหน้า ๒ ประตู ไม่มีการประดับเช่นกัน แต่มีบันไดนาคปูนปั้นที่ประตูทางขึ้น หลังคาทรงจั่วมีชั้นลด ๒ ชั้นมุงด้วยกระเบื้องเกล็ดประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ มีกำแพงแก้วเตี้ยๆ ส่วนซุ้มประตูทางเข้ากำแพงแก้วด้านข้างคงเป็นซุ้มประตูแบบเดิม คือเป็นซุ้มประตูขนาดเล็กล้อมรอบและมีซุ้มประตูทางเข้าที่ด้านหน้า ๑ ประตู และด้านซ้ายมืออีก ๑ ประตู ซุ้มประตูทางที่กำแพงแก้วด้านหน้าคงจะทำขึ้นใหม่ในคราวหลัง แต่เมื่อได้ทำการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงได้เปลี่ยนใบเสมาไม้เป็นเสมาปูนปั้นตามแบบที่นิยมทั่วไป ปัจจุบันมีเสมาไม้สักของวัดอัมพวันเหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น

ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญวัดอัมพวันสร้างขึ้นในราวปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ รูปทรงคล้ายกับศาลาการเปรียญเครื่องไม้ ที่นิยมสร้างขึ้นตามวัดที่เห็นได้ทั่วไปในภาคกลาง เป็นศาลาการเปรียญเครื่องไม้ขนาด ๑๓ ห้อง เป็นศาลาแบบโล่งไม่มีฝา ยกพื้นสูง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ด เป็นศาลาที่สร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งหลังแม้แต่ช่อฟ้า ใบมะกา หางหงษ์ และหน้าบันก็ทำด้วยเครื่องไม้ทั้งสิ้นมีบันไดก่ออิฐถือปูนเป็นทางขึ้นที่ด้านหลังและด้านข้าง

ใกล้เคียง

วัดอัมพวัน วัดอัมพวัน (จังหวัดสิงห์บุรี) วัดอัมพวันเจติยาราม วัดอัมพวัน (จังหวัดลพบุรี) วัดอัมพวัน (จังหวัดนครนายก) วัดอัมพวัน (กรุงเทพมหานคร) วัดอัมพวัน (จังหวัดนนทบุรี) วัดอัมพวัน (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) วัดอัมพวัน ก.ม. 7